เทคนิคปราบเชื้อราร้ายในบ้าน

ย่างเข้าฤดูฝนกับปัญหาใหญ่ที่พ่อบ้านและแม่บ้านต้องพบเจอ เมื่อความชื้นสะสมทำให้บ้านสุดรักของเราขึ้นรา โดยเฉพาะตามซอกมุมต่างๆ ที่เราเผลอปล่อยปละละเลยไม่ได้ทำความสะอาด เช่น ผนังห้องน้ำ ขอบหน้าต่าง และฝ้าหลังคา ทำให้เจ้าเชื้อราตัวร้ายบุกยึดพื้นที่และแพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ผลของเชื้อราในบ้าน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่สภาพบ้านให้ทรุดโทรมลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด อาการระคายเคืองตา หลอดลม และคัดจมูก เป็นต้น

ป้องกันเชื้อรา
ก่อนที่เชื้อราจะคืบคลานเข้ามาทำร้ายบ้านของเรา การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข โดยพยายามงดกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุของความชื้นในบ้าน และควรเปิดบ้านให้อากาศถ่ายเทหรือรับแสงแดดส่องเพื่อฆ่าเชื้อโรคอย่างทั่วถึงเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางวัน เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อราในบ้าน พร้อมทั้งเราควรให้ความสำคัญกับการล้างเครื่องปรับอากาศ ด้วยการแกะแผ่นกรองออกมาล้างทุกสัปดาห์ และให้ผู้เชี่ยวชาญล้างเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันเชื้อราสะสม

นอกจากการทำความสะอาดบ้านเป็นประจำแล้ว เราควรให้ความสนใจสำรวจตรวจตรารอบบ้านอย่างละเอียด โดยเฉพาะรอยร้าวหรือรอยชำรุดตามผนัง ซึ่งอาจจะเป็นทางให้น้ำฝนซัดสาดและรั่วซึม ทำให้ผนังขึ้นเชื้อราได้ ถ้าหากพบเจอรอยร้าวหรือรอยชำรุดเกิดขึ้น เราไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรจัดการใช้ยาแนวทาทับปิดกั้นช่องโหว่ไม่ให้น้ำจากภายนอกเข้ามา หรืออาจจะฉาบปูนซ้ำใหม่เพื่อปิดรอยดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีเวลาพอจะหายาแนวหรือปูนนำมาฉาบผนัง เราสามารถใช้โฟมอุดรอยรั่วไว้ชั่วคราวในช่วงหน้าฝนได้

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงมือกำจัด
ทันทีที่เห็นบ้านของเราโดนเชื้อราเล่นงาน อย่านิ่งนอนใจปล่อยเวลาให้ผ่านไป เพราะยิ่งนานวัน เชื้อรายิ่งแพร่พันธุ์ขยายวงกว้างขึ้น แต่ก่อนจะเริ่มกำจัด เราควรเตรียมตัวให้พร้อมทั้งอุปกรณ์ป้องกันและสถานที่ทำความสะอาด โดยควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งได้แก่ หน้ากาก ถุงมือ และรองเท้าบูทยาง เพื่อป้องกันเชื้อราและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการระบายอากาศ ด้วยการเปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่านให้อากาศถ่ายเทสะดวก พร้อมทั้งปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราฟุ้งกระจายในระบบระบายอากาศขณะกำลังทำความสะอาด

รับมือกับเชื้อราให้หมดจด
หลังจากเตรียมความพร้อมเรียบร้อยก็ถึงเวลาลงมือทำความสะอาด โดยการใช้สบู่หรือผงซักฟอกทั่วไป และล้างด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรด์ 0.5% หรือผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ซึ่งสามารถสังเกตได้ที่ฉลากให้มีส่วนผสมของสารดังกล่าวประมาณ 5-6% โดยไม่ควรผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับสารอื่นๆ เนื่องจากการผสมกับน้ำยาอื่นที่มีแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบอาจจะทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายได้

สำหรับวิธีการรับมือกับเชื้อราที่เกิดขึ้นในบริเวณต่างกัน เราสามารถเลือกใช้วิธีการกำจัดที่เหมาะสมกับแต่ละบริเวณ ดังนี้

– หากเชื้อราเกิดขึ้นในบริเวณห้องน้ำ เราสามารถใช้แปรงขัดห้องน้ำผสมกับน้ำยาล้างขัดห้องน้ำขัดถู หรือลองใช้สบู่พรมให้ชุ่มบริเวณดังกล่าว ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หลังจากนั้น จึงเริ่มขัดทำความสะอาด ซึ่งใช้ได้ผลเป็นอย่างดีกับเชื้อราใหม่มากกว่าเชื้อราที่เกิดขึ้นนานแล้ว

– หากเชื้อราที่เกิดขึ้นกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ เราควรเริ่มจากการย้ายเฟอร์นิเจอร์ให้ห่างไกลจากความชื้น อย่าเพิ่งทาสีหรือแลคเกอร์ทับในบริเวณที่เกิดเชื้อรา แต่ควรทำความสะอาด ด้วยผ้าหมาดๆ เช็ดในบริเวณที่มีเชื้อรา และเป่าพัดลมให้แห้ง แต่หากเชื้อราติดฝังแน่นในเฟอร์นิเจอร์ เราสามารถใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าผสมน้ำส้มสายชูทำความสะอาดได้ ซึ่งหลังจากกำจัดเชื้อราเรียบร้อย เราควรนำเฟอร์นิเจอร์ไปตั้งไว้ในที่แสงแดดส่องถึงประมาณ 1-2 สัปดาห์

– หากเชื้อราเกิดขึ้นบนพื้นบ้าน และผนังบ้าน เราสามารถใช้น้ำยาประเภทล้างครัวเรือนทำความสะอาดได้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์การรับประทานอาหาร เช่น ช้อน ส้อม สามารถใช้น้ำยาล้างจานทั่วไป ขณะที่เชื้อราบนเสื้อผ้าควรซักและลวกด้วยน้ำร้อนอีกครั้ง

ข้อสำคัญหลังจากทำความสะอาดกำจัดเชื้อราแล้ว เราควรใช้พัดลมเป่าให้แห้ง พร้อมทั้งเปิดประตู และหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท รวมถึงให้เชื้อราที่อยู่ในอากาศระบายออกจากบ้านของเราให้มากที่สุด ทั้งยังควรงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความชื้นในบ้านหลังกำจัดเชื้อราใหม่ๆ เช่น ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด แต่ควรเปิดให้อากาศภายนอกได้เข้ามาหรือแสงแดดอ่อนๆ ช่วยฆ่าเชื้อในบ้าน

อย่างไรก็ตาม เชื้อราสามารถกลับมาเยือนเราได้เสมอ โดยเฉพาะในภาวะอากาศชื้นหรือวัสดุยังแห้งไม่พอหลังกำจัดเชื้อรา ดังนั้น เราควรสังเกตการเติบโตของเชื้อราอีกประมาณ 2-3 วัน เพื่อความมั่นใจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสำรวจหาร่องรอยของเชื้อราเป็นประจำหากพบสัญญาณผิดปกติ เราควรรีบทำความสะอาดทันที แต่หากเชื้อรายังคงขึ้นซ้ำ ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ เราควรตรวจสอบระบบการระบายอากาศทั้งหมด เพราะอาจจะมีเชื้อราเติบโตอยู่ในระบบปรับอากาศ