ตั้งหิ้งพระในบ้าน จัดอย่างไรให้ถูกวิธี

ข้อควรรู้ในการตั้งหิ้งพระ

สำหรับเราชาวพุทธผู้เขียนเชื่อว่า ทุกบ้านต้องมีหิ้งพระเพื่อวางพระพุทธรูปเอาไว้กราบไหว้ระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ปัญหาที่มักจะพบคือไม่แน่ใจว่าจะติดตั้งอย่างไรจึงจะเหมาะสม บางคนลงมือสร้างบ้านไปแล้วแต่ไม่ได้คำนึงถึงจุดที่จะติดตั้งหิ้งพระ ก็เกิดความกังวลใจว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดหลักการหรือข้อห้าม อันที่จริงแล้วการจัดวางหิ้งพระ มีหลักการง่าย ๆ คือ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ในที่นี้หมายถึงเหมาะต่อการตั้งจิตระลึกต่อพระธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แม้สถานที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ใช้ความสะดวกแทนที่  แต่ก็มีข้อควรสังเกตและคำถามเกี่ยวกับการติดตั้งหิ้งพระอยู่บางประการที่มีคำตอบซึ่งพอจะเป็นเหตุเป็นผล ไม่ดูงมงายเพื่อให้คนที่วิตกได้พอคลายความกังวลไปได้บ้าง

เนื้อหา : บ้านไอเดีย

หิ้งพระ

ก่อนที่จะกล่าวถึงข้อควรรู้ในการตั้งหิ้งพระนั้น อยากจะขอทำความเข้าใจให้ตรงกันกับผู้อ่านก่อนว่า ในบทความนี้เน้นการจัดวางหิ้งบูชาด้วยจุดประสงค์ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสบายใจ และสะดวกต่อการแสดงความระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลัก โดยมิได้ยึดเอาความรุ่งเรืองร่ำรวยเป็นจุดหมายปลายทาง เมื่อเข้าใจไปในแนวทางเดียวกันแล้วก็มาดูการจัดหิ้งบูชาพระด้วยกัน

อันดับแรก ข้อควรคำนึงถึงในการหาจุดติดตั้งหิ้งพระ

1. พื้นที่ตั้งหิ้งพระควรเป็นมุมสงบของบ้านที่เปิดโล่งไม่ทึบ แสงตามธรรมชาติสามารถส่องได้ถึง
2. ไม่ควรตั้งหิ้งบูชาไว้ตรงข้ามประตูห้องส้วม ห้องครัว เพราะกลิ่นจากห้องน้ำ ความชื้นจากห้องน้ำและกลิ่นควันกลิ่นอาหารจากครัว จะโชยมารบกวนขณะไหว้พระนั่งสมาธิบริเวณติดตั้งหิ้งพระได้  ถ้าจามไปด้วยได้กลิ่นเหม็นไปด้วยคงไม่ดีแน่ครับ
3. ควรตั้งหิ้งบูชาให้สูงพ้นระดับศีรษะขึ้นไป แต่ไม่สูงจนเกินเอื้อม ซึ่งจะทำให้นำสิ่งบูชาวางได้ง่ายๆ และทำความสะอาดได้สะดวก
4. ไม่ควรตั้งหิ้งบูชาใต้บันได เพราะเท่ากับเราเดินเหยียบย่ำไปบนพระพุทธรูปซึ่งไม่เหมาะสม
5. ติดตั้งหิ้งพระที่ชั้นไหนก็ได้ตามที่เห็นว่าสะดวก ไม่จำเป็นต้องติดที่ชั้นสูงสุด เนื่องจากบางบ้านอาจจะมีผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกเดินไปไหว้พระบนชั้นสูง ๆ ของบ้าน
6. ไม่ควรติดหิ้งเหนือขอบประตูบ้าน เพราะโอกาสที่แรงจากการเปิด – ปิดประตูจะกระแทกกับวงกบจนเกิดแรงสั่นสะเทือน ทำให้หิ้งและพระพุทธรูปหลุดร่วงลงมาได้

หิ้งพระ

ควรหันหน้าหิ้งพระไปทางทิศใด

การหันหน้าหิ้งพระนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องหันหน้าไปตามทิศใดเป็นพิเศษจึงจะเป็นมงคล เพราะบ้านแต่ละหลังอาจจะมีข้อจำกัดของพื้นที่ต่างกัน ในพุทธศาสนาเองก็ไม่มีข้อห้ามเรื่องการจัดทิศหรือตำแหน่งที่พระพุทธรูปจะต้องหันหน้าไป ดังนั้นก็ถือเสียว่าไม่ว่าหิ้งจะทางทิศใด ทิศนั้นก็อุดมไปด้วยความเป็นมิ่งมงคลอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะระวังไม่ให้หันหน้าเข้าหาห้องน้ำ ห้องครัว ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ถ้ายังรู้สึกติดอยู่ในใจเกรงว่าจะไม่ถูกตามหลัก ก็ลองเลือกทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศกลางๆ ที่นิยมติดตั้งมากที่สุด เนื่องจากถือตามคติเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ได้นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั่นเอง

ธูปและเทียน LED

กระถางธูปบนหิ้งพระไม่ใส่ได้ไหม

โดยปกติทั่วไปหิ้งพระก็มักจะมีบริเวณเหลือให้วางกระถางสำหรับจุดธูปบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ปัจจุบันข่าวเรื่องไฟไหม้จากการจุดธูปเทียนก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเทควันธูปก็อาจจะสร้างอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ ทำได้เริ่มมีข้อสงสัยที่ว่าถ้ามีพื้นที่น้อยพอวางพระพุทธรูป แต่ไม่มีที่เพียงพอสำหรับวางกระถางธูป และไม่จุดธูปบูชาพออนุโลมได้หรือไม่ คำตอบคือ เราสามารถติดตั้งหิ้งพระ โดยไม่ต้องมีกระถางธูปก็ได้ เพราะธูปเป็นอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ สมัยพระพุทธกาลจะบูชาด้วยดอกไม้และของหอม อาทิ แก่นไม้จันทร์หอม เป็นต้น ซึ่งศาสนาพุทธไม่มีบัญญัติว่าต้องบูชาด้วยธูป เพียงบูชาด้วยสองมือประณมและจิตที่ตั้งใจก็ได้เช่นกัน

หิ้งพระในห้องนอน

ตั้งหิ้งพระในห้องนอนได้หรือไม่

โดยปกติหิ้งพระเราจะเลือกติดตั้งไว้ในจุดที่สงบและทำการกราบไหว้สวดมนต์ได้สะดวก ทุกครั้งที่มีการสวดมนต์ก็จะมีบทสวดอัญเชิญเทวดาร่วมสวดมนต์ด้วย การตั้งหิ้งพระไว้ในห้องนอนหรือหน้าห้องนอน ซึ่งเป็นห้องส่วนตัวที่มีไว้สำหรับประกอบกิจกรรมของสัตว์โลกจึงไม่สมควร

ตู้หิ้งพระมีบานปิด

แต่ถ้าเรามีความจำเป็น เช่น อยู่ห้องชุด หอพัก ที่เป็นห้องเดียวแบบสตูดิโอที่ไม่ได้แบ่งห้องนอนเป็นสัดส่วน แล้วไม่สบายใจหากต้องติดตั้งหิ้งพระเอาไว้ข้างใน ลองเปลี่ยนมาเป็นลักษณะตู้กระจกมีม่านติด เมื่อจะสวดมนต์ก็เปิดม่านออก หรือทำเป็นกล่องมีบานปิดเปิดได้

เรียงลำดับพระบนหิ้ง

การวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนหิ้งพระเรียงลำดับอย่างไร

คำถามนี้หลายๆ คนอาจจะสงสัย เพราะบางบ้านไม่ได้นับถือศาสนาพุทธอย่างเดียว แต่รวมไปถึงฮินดู พรามหณ์ และรูปเคารพอื่นๆ วิธีวางมีหลักการคือเรียงตามระดับความบริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรมดังนี้

1. พระพุทธรูป
2. พระโพธิสัตว์ เช่น พระโพธิสัตว์กวนอิม
3. พระอรหันต์ ได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระสีวลี พระสังกัจจายน์ พระบัวเข็ม หากไม่แน่ใจว่าพระรูปใดเป็นพระอรหันต์ ก็ค้นคว้าจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ตเพื่อความมั่นใจก่อนได้ครับ เพราะธรรมดาเราคงจะทราบได้ยาก
4. พระอริยสงฆ์ เช่น หลวงพ่อโต (วัดระฆัง) หลวงปู่ทวด (วัดช้างไห้) หลวงปู่มั่น (ภูริทัตโต)
5. รูปเหมือนสงฆ์ เป็นพระที่พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือ
6. เทพเจ้า อาทิ พระพิฆเณศวร พระศิวะ
7. พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย

หิ้งพระ

ทั้งนี้การเรียงลำดับสิ่งเคารพบนหิ้งพระก็ไม่ได้กำหนดตายตัวนะครับ เพราะต้องดูขนาดและลักษณะหิ้งประกอบด้วย เช่น ถ้าเป็นแบบโมเดิร์นยาวชั้นเดียวก็นำรูปหล่อบูชามาวางเรียงกันเป็นแถว โดยกำหนดพระประธานหนึ่งองค์แล้วรูปอื่น ๆ ก็วางรายรอบ จะหาฐานวางความสูงขนาดต่าง ๆ มาเพิ่มระดับความสูงให้ลดหลั่นกันไปก็ได้ หรือจะแยกระหว่างหิ้งบูชาพระและหิ้งบูชาเทพก็เป็นสัดส่วนดีครับ ที่สำคัญคือ หลังจากติดตั้งหิ้งบูชาพระแล้วต้องทำความสะอาดหิ้งอยู่เสมอ หมั่นดูแลเปลี่ยนน้ำในแจกันอย่าปล่อยให้ดอกไม้แห้งเฉาไม่มีชีวิตชีวาอยู่บนหิ้ง เพราะน้ำเน่าจะส่งกลิ่นรบกวน เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ฝุ่นที่เกาะหนาบริเวณหิ้งและดอกแห้งอาจจะส่งผลกับระบบทางเดินหายใจได้ อย่างไรก็ตามเมื่อหาจุดที่เหมาะในการติดตั้งแล้ว อย่าลืมสวดมนต์ไหว้พระให้จิตใจแจ่มใส  ก่อให้เกิดสมาธิ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งหิ้งบูชาพระกันนะ