ระบบกาลักน้ำ ตัวช่วยระบายน้ำฝนบนหลังคา

“ท่อระบายน้ำฝนจากหลังคาสามารถออกแบบให้มีขนาดเล็กได้ด้วยระบบกาลักน้ำ นอกจากจะมีประสิทธิภาพไม่แพ้ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว ยังทำให้บ้านดูดีอีกด้วย”

ผ่านพ้นฤดูร้อนมาพักใหญ่ เข้าสู่ฤดูฝนที่แม้จะนอนสบายในตอนกลางคืนแต่ก็มอบความเปียกชื้นในทุกพื้นที่จนในช่วงกลางวันเวลาที่ต้องเดินทางไปไหนคุณคงรู้สึกหงุดหงิดหรือไม่สบายเนื้อสบายตัวพอสมควร แต่คนนั้นหากมีร่มหรืออุปกรณ์ป้องกันฝนคงไม่เป็นอะไร แต่บ้านแสนรักของคุณล่ะ จะป้องกันตัวเองได้อย่างไรเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ตัวบ้าน 

คำตอบ คือ ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการระบายน้ำฝนตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อสร้าง ซึ่งรางน้ำของหลังคามีหน้าที่หลัก คือ รองรับน้ำฝนจากหลังคาก่อนจะปล่อยลงสู่ด้านล่างต่อไป จึงต้องสามารถรองรับน้ำได้เพียงพอและระบายได้ทัน ไม่ล้นออกมานอกรางจนไหลย้อนเข้าสู่ตัวบ้านอย่างที่คุณกังวล โดยหลายบ้านที่มีขนาดผืนหลังคาค่อนข้างใหญ่ จะนิยมใช้ท่อระบายขนาดใหญ่เพื่อให้น้ำระบายได้ทันกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งอาจส่งผลต่อหน้าตาของบ้านที่อาจดูไม่สวยงามเท่าไรนัก

แต่รู้หรือไม่ว่า การเลือกท่อระบายน้ำขนาดเล็กเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่สามารถระบายน้ำได้ดีเช่นกัน ด้วยการระบายน้ำที่อาศัยระบบกาลักน้ำหรือไซฟ่อน “Siphonic Drainage” ที่สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าท่อจะเล็กหรือใหญ่

โดยช่วงแรก น้ำจะไหลลงรอบๆ ขอบด้านในของท่อระบาย ส่วนบริเวณตรงกลางท่อจะเกิดแรงดันอากาศขึ้นมาด้านบน ช่วงนี้น้ำจะไหลเอื่อยเพราะมีทั้งอากาศและน้ำปนกันในท่อ เมื่อปริมาณน้ำในรางเพิ่มขึ้นมาในระดับที่มากพอ น้ำจะปิดกั้นอากาศไม่ให้ไหลเข้ามาในเส้นท่อ จึงทำให้เกิดแรงดันมหาศาลที่ส่งน้ำจากด้านบนให้ไหลลงสู่ด้านล่างเป็นวัฏจักรวนซ้ำเป็นรอบๆ ราวกับว่าน้ำนี้ทำหน้าที่เป็นกระบอกลูกสูบเลยทีเดียว

 

บน - ท่อระบายน้ำที่มีอากาศปน ล่าง - ท่อระบายน้ำที่มีน้ำเต็มท่อโดยไร้อากาศ จะเกิดแรงดันของน้ำให้ไหลลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว

บน – ท่อระบายน้ำที่มีอากาศปน
ล่าง – ท่อระบายน้ำที่มีน้ำเต็มท่อโดยไร้อากาศ จะเกิดแรงดันของน้ำให้ไหลลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ขนาดท่อยิ่งเล็ก น้ำก็จะเต็มท่อโดยไร้อากาศได้เร็วกว่าท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ และสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ที่สำคัญ รางน้ำควรมีขนาดความกว้าง ยาว และลึกมากพอเพื่อกักเก็บน้ำได้ในระดับที่เพียงพอจะทำให้เกิดปรากฏการณ์กาลักน้ำ ทั้งนี้ แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรระบบประปาและสุขาภิบาลในการคำนวณหาขนาดที่เหมาะสม

 

ภาพแสดงวัฏจักรการไหลของน้ำที่อาศัยระบบกาลักน้ำ ที่ช่วงแรกน้ำจะค่อยๆ ไหลลงมา ช่องสองคือมีฟองอากาศผสม ปนกับน้ำ และช่วงน้ำเต็มท่อที่เกิดแรงดันส่งน้ำลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว

ภาพแสดงวัฏจักรการไหลของน้ำที่อาศัยระบบกาลักน้ำ ที่ช่วงแรกน้ำจะค่อยๆ ไหลลงมา ช่องสองคือมีฟองอากาศผสม
ปนกับน้ำ และช่วงน้ำเต็มท่อที่เกิดแรงดันส่งน้ำลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่า นอกจากสามารถใช้ท่อที่มีขนาดเล็กลง เพื่อความรวดเร็วในการระบายน้ำแล้ว บ้านเราก็จะสวยได้ด้วยการซ่อนท่อระบายขนาดเล็กในผนังบ้าน หรือจะโชว์ท่อก็ได้เพราะขนาดที่เล็กเพรียวดูไม่เด่นจนเตะตามากเกินไป

 

การระบายน้ำของหลังคาแบนขนาดใหญ่ ที่ใช้ท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว เมื่อน้ำในรางถึงระดับที่เหมาะสมจะเกิดปรากฏการณ์กาลักน้ำขึ้น

การระบายน้ำของหลังคาแบนขนาดใหญ่ ที่ใช้ท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว เมื่อน้ำในรางถึงระดับที่เหมาะสมจะเกิดปรากฏการณ์กาลักน้ำขึ้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก Youtube Channel : My Geberit AustraliaHydroMaxSiphonic และ SCGExperiencetube